EP.1 การเลือกซื้อกีตาร์ ฉบับมือใหม่

Last updated: 18 เม.ย 2566  |  447 จำนวนผู้เข้าชม  | 

EP.1 การเลือกซื้อกีตาร์ ฉบับมือใหม่

การเลือกซื้อกีตาร์ แบบมือใหม่ สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเสียเงิน!

การเลือกซื้อกีตาร์ สิ่งสำคัญที่ต้องมาเป็นอันดับ 1 คือ ถูกใจเราไหม? อย่าซื้อเพราะฟังคนอื่นบอกมา เพราะสุดท้ายแล้ว กีตาร์ตัวที่เราจ่ายเงินไปนั้น จะอยู่กับเรา ไม่ได้อยู่กับคนที่บอกมา... ฉะนั้น ฟังคนอื่น ฟังได้ แต่ฟังให้เป็นแนวทาง ไม่ใช่ฟังให้เป็นคำตอบ!!

หลักการเลือกซื้อกีตาร์ มีอะไรบ้าง? ผู้เขียนขอ ถ่ายถอดประสบการณ์ ในช่วงกว่า 30 ปี ที่ซื้อกีตาร์มาหลากหลายระดับราคา หลากหลายยี่ห้อ โดยขอเขียนคำแนะนำเป็นกระชับๆ เพื่อให้ไม่ต้องอ่านยาวๆ ออกมาเป็นข้อๆ ดังนี้ 

1. รูปทรง (Body Shape/Size) หรือขนาดของกีตาร์ ถ้าผู้เล่นเป็นคนรูปร่างเล็ก แต่เลือกซื้อกีตาร์ตัวใหญ่ ต้องทำใจไว้ก่อนว่า เมื่อเล่นกีตาร์นานๆ อาจจะรู้สึกเมื่อยได้ 

2. ขนาดของคอ (Nut Width) ให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า มันคือความกว้างของนัท จะเรียกแบบไหนก็แล้วแต่ถนัด แต่มันคือเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเรียกให้ถูก เราเรียกว่า ความกว้างของนัท. โดยทั่วไป กีตาร์โปร่งสายเหล็ก ความกว้างนัทจะเริ่มจาก 42mm 43mm 44mm หากนัทกว้างกว่านี้ จะอยู่ในกลุ่มกีตาร์สายไนล่อน หรือกีตาร์คลาสสิค 

กีตาร์สำหรับมือใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึกเล่น มักจะเริ่มจาก 42-43mm เพราะรู้สึกว่าจับง่าย แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพียงความเชื่อ! ให้ลองนึกว่า เด็กเล็ก/หรือนักเรียน ที่ไปเรียนกีตาร์ โดยเฉพาะกีตาร์คลาสสิค ทำไมเด็กเหล่านั้น เค้าสามารถเล่นกีตาร์ที่คอกว้าง ซึ่งบางตัวกว้างมากกว่า 50mm ด้วยซ้ำ นั่นแสดงว่า ทุกอย่างมันเริ่มจากความคุ้นเคย หรือเริ่มจากการเริ่มต้น 

หากสามารถเริ่มต้นได้ ผู้เขียนอยากให้เริ่มต้นจากขนาดมาตรฐาน คือ 44mm หรือ นัทกว้าง 1 3/4 " เป็นมาตรฐานสากล แต่สุดท้าย การเลือกตามความถนัด คือสิ่งสำคัญสุด

3. เสียง เรื่องนี้เป็นเรื่องความชอบส่วนตัว บางท่านชอบเสียงคมๆ ใสๆ บางท่านชอบเสียงกลางเยอะๆ บางท่านชอบเสียง Low เยอะ อย่าจัดจ้านมาก แต่ละท่านชอบต่างกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาเลือกกีตาร์ อย่าเชื่อหูคนอื่น ให้เชื่อหูตัวเอง เพราะการเลือกเสียง คือการเลือกรสนิยม...อันเป็นส่วนตัวเฉพาะบุคคล 

4. ยี่ห้อ/แบรนด์ แน่นอนว่า การเลือกซื้อกีตาร์แบรนด์ที่คนรู้จักทั่วไป ย่อมดูดี หรืออาจจะขายต่อได้ง่ายกว่า แต่สิ่งที่อยากเตือนทุกท่านไว้คือ เรื่องนี้ควรจะวางเอาไว้ก่อน เพราะแม้กีตาร์ตัวนั้นจะเป็นกีตาร์ยี่ห้อดังแค่ไหน สุดท้าย "ต้องเลือกตัวที่ใช่" ไม่ใช่แบรนด์ที่ใช่ อย่าให้เรื่องแบรนด์มาบังตาบังใจ จนลืมนึกถึงเรื่องความชอบ เพราะได้แบรนด์นั่นมา แต่ไม่ใช่ตัวที่ใช่ที่สุด สุดท้าย กีตาร์ตัวนั้นก็อยู่กับท่านไม่นาน  

5. หน้าตากีตาร์ หรือ Design 
แน่นอนว่า กีตาร์ที่เราชอบ อาจไม่ใช่เรื่องเสียงเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าหน้าตามันไม่โดนใจ ซื้อมา...​นั่งมองก็คงรู้สึกเบื่อ รู้สึกไม่ชวนให้จับขึ้นมาเล่น ดังนั้น อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่า กีตาร์หน้าตาแบบไหนที่เราชอบ? เช่น แบบเรียบๆ ตกแต่งน้อยๆ หรือว่าชอบกีตาร์ที่ดูหรูหรา ตกต่างมากหน่อย อันนี้แล้วแต่ความชอบ แต่ต้องถามใจตัวเองด้วย.

6. คำโฆษณา หรือคำกล่าวอ้างจากผู้ขาย
แน่นอนว่า ผู้ขายต้องการขายสินค้า คำกล่าวอ้างที่เกินจริง หรือใช้กลยุทธ์กลอกให้เชื่อ โดยไม่คำนึกถึงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ดังนั้น ลูกค้าต้องใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล ให้ดีๆ เพราะในโลก Social Media สมัยใหม่ เต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย "Overload" จริงเป็นเท็จ เท็จเป็นจริง ปะปนมากมายในโซเชียลมีเดีย ฉะนั้น เราต้องศึกษาให้รอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจ 

ทั้งหมดคือ แนวทางคร่าวๆ เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับมือใหม่ โอกาสหน้า เราจะมาลงรายละเอียดแบบลึกๆ แบบมืออาชีพกันอีกครั้ง. 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้